หลายคนคงเคยมีความรู้สึกตั้งใจอยากจะออกกำลังกายแต่ก็ทำได้ไม่ต่อเนื่องเพราะไม่มีแรงจูงใจเท่าที่ควร แต่ก็มีหลายคนที่ค้นพบวิธีสร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกายให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อชุดออกกำลังกายหรือรองเท้าใหม่ และอีกหนึ่งวิธีคือการฟังเพลงในขณะที่ออกกำลังกายด้วยการใช้ "หูฟังออกกำลังกาย" ที่ทำให้คุณหลุดไปอยู่ในโลกของตนเองอีกโลกและยังได้เพลินเพลินไปกับการฟังเพลงโปรด หรือแม้กระทั่งสนทนาโทรศัพท์ไปพร้อม ๆ กับเพื่อนซี้ของคุณอย่างออกรสออกชาติก็ทำได้เช่นกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ว่าหูฟังทุกรุ่นจะเหมาะสมสำหรับใช้งานในขณะออกกำลังกาย โดยเฉพาะรุ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำหรือเหงื่อซึ่งอาจจะทำให้หูฟังเสียหายได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การเลือกหูฟังที่เหมาะสมกับประเภทการใช้งานเป็นสิ่งที่สำคัญ ในบทความนี้ เราจะมา แนะนำวิธีการเลือกหูฟังออกกำลังกาย พร้อมทั้งนำเสนอหูฟังออกกำลังกายคุณภาพดีทั้งหมด 10 รุ่น ซึ่งมาจากหลากหลายยี่ห้อ ให้คุณได้ตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูพร้อม ๆ กันได้เลยครับ !
สิ่งสำคัญก่อนการซื้อหูฟังออกกำลังกาย คือ การได้ทราบถึงวิธีการเลือกหูฟังออกกำลังกายที่ถูกต้อง ดังนั้น เรามาศึกษาวิธีการเลือกหูฟังออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าครับ
หลัก ๆ แล้ว หูฟังทุกชนิดจะมีวิธีการเชื่อมต่ออยู่ 2 ประเภท ก็คือ แบบมีสายและแบบไร้สาย โดยในแต่ละประเภท ก็จะมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปครับ
การเลือกใช้หูฟังออกกำลังกายแบบมีสาย จะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรับฟังเสียงดนตรีหรือเพลงที่คงคุณภาพเสียงไว้อย่างเต็มร้อย เพราะไม่ถูกแปลงสัญญาณเสียงแบบหูฟังไร้สายนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับ คุณสมบัติในการป้องกันน้ำ หรือในบางรุ่นก็สามารถ ป้องกันฝุ่น ได้ด้วย แถมยังมี ราคาที่ไม่สูงมาก ทำให้เหมาะกับผู้ที่มีงบประมาณจำกัดอีกด้วยครับ
แต่เมื่อมีข้อดี ก็ต้องมีข้อเสีย เนื่องจากเป็นหูฟังที่มีสาย อาจจะทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกรำคาญ หรือคิดว่าเป็นสิ่งที่เกะกะเวลาออกกำลังกาย เพราะสายของหูฟังอาจจะไปกระทบกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นก็เป็นได้ รวมถึงถ้าคุณเป็นผู้ที่ออกกำลังกายด้วยกีฬาทางน้ำเป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าหูฟังแบบมีสายจะไม่สามารถใช้งานได้ เพราะต้องเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนโดยตรง จึงจำเป็นที่จะต้องมองหาหูฟังออกกำลังกายแบบไร้สายที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำระดับสูงแทนครับ
แน่นอนครับว่าเมื่อหูฟังตัวเก่งของคุณไม่มีสายอีกต่อไปก็จะทำให้ สวมใส่ได้อย่างคล่องตัว ไม่ต้องมาเป็นกังวลว่าจะมีอะไรมาเกี่ยวกับสาย ไม่ว่าจะออกกำลังกายท่าไหนก็ไม่เป็นปัญหา หรือต้องมาเสียเวลาแก้มัดสายของหูฟังที่พันกันระโยงระยางจากการจัดเก็บ เพราะหูฟังไร้สายมาพร้อมกับเคสหรือกล่องเก็บหูฟังซึ่งมีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาง่าย น้ำหนักเบา แถมยังมีแบตเตอรี่ในตัวไว้สำหรับชาร์จหูฟังไร้สายได้อีกด้วย
และเช่นเดียวกัน เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะการจะซื้อหูฟังออกกำลังกายแบบไร้สายสักตัวต้องใช้หลักในการพิจารณาหลาย ๆ อย่างประกอบกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เวอร์ชันสัญญาณ Bluetooth ที่ยิ่งเป็นเวอร์ชันใหม่เท่าไร การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตและหูฟังก็จะมีประสิทธิภาพและเสถียรมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรา แนะนำว่าควรเป็น Bluetooth เวอร์ชัน 4.0 ขึ้นไป หรือถ้าจะให้ดีจริง ๆ ฟังเพลงแบบไม่มีอาการหน่วง รับระยะสัญญาณได้ไกลมากยิ่งขึ้น เราขอแนะนำเวอร์ชัน 5.0 ไปเลยจะดีกว่าครับ
และด้วยความที่เป็นหูฟังแบบไร้สาย จึงต้องมีการแปลงรหัสสัญญาณของเสียงต่าง ๆ จากแหล่งกำเนิดเสียก่อน ก่อนที่จะส่งไปยังหูฟัง ซึ่งจุดนี้จะเป็นตัวตัดสินคุณภาพของเพลงหรือดนตรีที่คุณอยากฟังครับ ดังนั้น ถ้าหากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเสียงเพลง เรา ขอแนะนำให้คุณมองหาหูฟังออกกำลังกายแบบไร้สายที่สามารถรับรหัสสัญญาณแบบ aptX ขึ้นไป ครับ
เรื่องรูปทรงและดีไซน์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่มีผลต่อการสวมใส่ ทั้งในเรื่องความกระชับกับใบหู ความสบายขณะสวมใส่หรือความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย อีกทั้งยังมีผลต่อเรื่องเสียงรบกวนและคุณภาพของเสียงเพลงอีกด้วยครับ
หูฟังรูปทรง "Earbuds" หรือภาษาไทยหลาย ๆ คน อาจเรียกว่ารูปทรง "แปะหู" คือหูฟังที่เรามักจะคุ้นหน้าค่าตากันเป็นอย่างดีมากกว่าหูฟังรูปทรงอื่น ๆ เพราะเรียกได้ว่า เป็นรูปทรงของหูฟังรูปแบบแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ข้อดีของหูฟังรูปทรงนี้ก็คือ สวมใส่ง่าย ไม่อึดอัด และไม่จำเป็นต้องอุดหูเหมือนรูปทรง In-Ear ในขณะสวมใส่ พร้อมกับระดับเสียงที่ไม่ดังจนเกินไปจึงทำให้ได้ยินเสียงภายนอกด้วยนั่นเองครับ
ดังนั้น หูฟังรูปทรง Earbuds จึง เหมาะสำหรับผู้ที่รู้สึกอึดอัดกับการใส่หูฟัง In-Ear หรือต้องการที่จะได้ยินเสียงสภาวะแวดล้อมภายนอก ด้วย ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมาก หากคุณจำเป็นต้องออกกำลังกาย เช่น การปั่นจักรยานหรือการวิ่ง ในสถานที่ชุมชน หรือมีผู้คนอาศัยอยู่เยอะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุนั่นเองครับ
สำหรับ หูฟังรูปทรง "In-Ear" หรือที่หลายคนมักจะเรียกกันว่ารูปทรง "สอดหู" และ "อุดหู" คืออีกรูปทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ช่วยให้ได้รับฟังเสียงเพลงที่เต็มอิ่มและชัดเจนกว่า Earbuds เพราะ ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฟังเพลงอย่างจริงจัง รวมไปถึงสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับฟังเสียงจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยนั่นเองครับ
แต่ถ้าหากคุณออกกำลังกายในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีรถราสัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลา อาจจะต้องระมัดระวังและต้องสังเกตสิ่งสิ่งรอบข้างมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะหูฟังประเภทนี้อาจจะทำให้คุณไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง หรือได้ยินเพียงแค่เล็กน้อย จนทำให้ไม่รู้สึกเอะใจและนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ครับ
หูฟังประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นรูปทรงของหูฟังแบบไร้สายที่ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ออกกำลังกาย เพราะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในขณะที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือกำลังเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี เพราะการออกแบบของหูฟังไร้สายรูปทรง "Neckband" หรือรูปทรง "คล้องคอ" จะเป็นลักษณะของการคล้องแผงวงจรของหูฟังจากด้านหลังท้ายทอยมาพาดไว้ที่บ่า ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นหูฟังไร้สายทั่วไป เมื่อต้องออกกำลังกายเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ก็มักจะมีโอกาสที่หูฟังจะหลุดออกจากหู ร่วงหล่นลงพื้น จนทำให้หูฟังสกปรกหรือชำรุดเสียหายได้
แต่ถ้าหากเป็นหูฟังรูปทรง Neckband แม้หูฟังจะหลุดออกจากหูโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็จะยังไม่หลุดหายไปไหน เพราะมีสายหรือแผงวงจรที่คล้องคอรั้งไว้นั่นเอง นอกจากนี้ หูฟังไร้สายรูปทรง Neckband ในหลาย ๆ รุ่น มักจะ มีแถบแม่เหล็กอยู่ที่ท้ายของตัวหูฟังทั้งสองข้าง ซึ่งนำมาประกบติดกันให้กลายเป็นลักษณะคล้ายสร้อยคอได้ ช่วยให้ ไม่จำเป็นต้องม้วนเก็บหูฟังใส่ในกระเป๋าและทำให้ไม่หลุดหายไปไหนง่าย ๆ อย่างแน่นนอน ซึ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ
มาตรฐานป้องกันฝุ่นและน้ำ ถือเป็น 2 สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกซื้อหูฟังออกกำลังกาย โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันน้ำ เนื่องจากเมื่อคุณออกกำลังกาย ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีเหงื่อไหลออกมา และเจ้าเหงื่อนี้ล่ะครับคือปัญหาสำคัญที่เป็นตัวการทำให้แผงวงจรภายในของหูฟังชำรุดเสียหาย หากหูฟังไม่มีมาตรฐานป้องกันน้ำ
และในส่วนของมาตรฐานป้องกันฝุ่นเองก็สำคัญครับ ซึ่งอันที่จริงแล้วอยู่รวมกับหมวดหมู่ "มาตรฐานป้องกันของแข็ง" ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น ปีนเขา วิ่งเทรล เดินป่า ที่มักจะเป็นการออกกำลังกายแนวลุย ๆ ซึ่งหูฟังอาจจะหลุดจากหูโดยไม่ได้ตั้งใจและตกลงไปบนพื้นทรายที่สกปรก โดยถ้าหากมีมาตรฐานป้องกันฝุ่นไว้ก็จะทำให้ทำความสะอาดหูฟังได้ง่ายและป้องกันการชำรุดเสียหายได้ครับ
และทั้งสองมาตรฐานนี้ จะมีตัวย่อร่วมกันคือ "IPXX " ซึ่งจะใช้ตัวเลขสองหลักในการบ่งบอกระดับของมาตรฐานทั้งสองครับ เช่น IP55 เป็นต้น คราวนี้ เรามาดูที่ตัวเลขหลักแรกกันก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกมาตรฐานการป้องกัน "ของแข็ง" ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 ระดับ ประกอบด้วย
- IP0X = ไม่มีความสามารถป้องกันใด ๆ ซึ่งถ้าหากหูฟังไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันของแข็ง จะแทนเลข 0 ด้วย X เช่น IPX5
- IP1X = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 50 mm ขึ้นไป
- IP2X = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 12 mm ขึ้นไป
- IP3X = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 2.5 mm ขึ้นไป
- IP4X = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 1 mm ขึ้นไป
- IP5X = ป้องกันฝุ่นได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด
- IP6X = ป้องกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
และต่อมา เป็นมาตรฐานป้องกันน้ำ ซึ่งก็คือเลขหลักด้านหลัง โดยมีด้วยกันทั้งหมด 8 ระดับ แต่ในครั้งนี้ เราจะยกมาเพียงระดับที่เหมาะสมสำหรับหูฟังออกกำลังกายเท่านั้น ซึ่งไม่ควรต่ำกว่าระดับ IPX4 นั่นเอง โดยประกอบด้วย
- IPX4 = ป้องกันน้ำหรือละอองน้ำจากของเหลวได้รอบทิศทาง
- IPX5 = ป้องกันน้ำจากการฉีด, พ่น ในระดับความแรงต่ำโดยตรงได้ 3 นาที
- IPX6 = ป้องกันน้ำจากการฉีด, พ่น ในระดับความแรงสูงโดยตรงได้ 3 นาที
- IPX7 = ป้องกันน้ำจากการแช่น้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร ได้ 30 นาที
- IPX8 = ป้องกันน้ำจากการแช่น้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร โดยไม่จำกัดเวลา
และถ้าหากหูฟังออกกำลังกายที่คุณกำลังมองหามีทั้งสองมาตรฐานนี้รวมกัน ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คุณเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายทั่วไปแล้วล่ะก็ แค่มาตรฐานป้องกันน้ำก็อาจจะเพียงพอแล้วครับ
สำหรับหูฟังไร้สาย แบตเตอรี่คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ควรตรวจสอบ ซึ่งอันที่จริงแล้ว หากเป็นการออกกำลังกายทั่วไป เพียงวันละ 30 นาที - 2 ชั่วโมง หูฟังไร้สายทุกรุ่นสามารถใช้ได้อย่างยาวนานไม่มีปัญหาแน่นอนครับ แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น การฝึกซ้อมกีฬาตลอดทั้งวัน หรือการวิ่งมาราธอน ควรตรวจสอบขนาดของแบตเตอรี่หูฟังไร้สายให้ดีว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานเพียงพอหรือไม่
รวมไปถึงกรณีที่เป็นหูฟังไร้สายที่ส่วนใหญ่มาพร้อมกับเคสแบบชาร์จได้ หากต้องการใช้งานทั้งวันได้อย่างไม่มีปัญหา ควรพกเคสหูฟังติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะ เคสของหูฟังไร้สายโดยทั่วไปแล้ว จะชาร์จหูฟังไร้สายได้ราว ๆ 2 - 3 รอบ ก่อนที่แบตเตอรี่ของเคสจะหมดครับ
แต่ในหูฟังบางรุ่น สามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของคุณว่าหนักหน่วงมากเพียงใด ซึ่งเราขอแนะนำว่า หลังจากที่ใช้งานเสร็จเรียบร้อยในแต่ละวัน ควรชาร์จแบตทั้งเคสและหูฟังไร้สายให้เต็มอยู่เสมอเพื่อที่จะพร้อมใช้งานในวันถัดไปครับ
นอกจากนี้ ในกรณีที่คุณต้องการหูฟังไร้สายที่ชาร์จแบตเต็มได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ควรมองหาหูฟังที่รองรับการชาร์จด้วยพอร์ต USB-C เพราะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงและเยอะกว่า พอร์ต Micro-USB ครับ แต่ถ้าหากคุณไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการชาร์จ การเลือกซื้อหูฟังไร้สายที่ชาร์จด้วยพอร์ต Micro-USB ก็คงไม่มีปัญหาอะไรครับ
และแล้วก็มาถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เราไปดูกันเลยครับว่า หูฟังออกกำลังกาย 10 อันดับ ที่ทีมงานมายเบสท์เลือกมานำเสนอนั้น จะมีรุ่นไหนที่ถูกใจคุณบ้าง !
ถือได้ว่าเป็นหูฟังออกกำลังกายทรง In-Ear Neckband ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่มีงบประมาณจำกัด เพราะสเปกที่ให้มานั้นคุ้มค่าเกินราคา เริ่มจากไดรเวอร์ขนาด 10 มม. ช่วยให้หูฟังมีมิติเสียงที่ชัดเจนและไพเราะมากขึ้น ใส่ออกกำลังกายทั่วไปได้อย่างไร้กังวล เพราะมีมาตรฐานป้องกันน้ำระดับ IPX5 แถมยังมีไมโครโฟนไว้สำหรับสนทนา พร้อมปุ่มควบคุมบริเวณส่วนหัวของ Neckband นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังให้มาถึง 80mAh ใช้งานได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียวครับ
และนี่ก็เป็นหูฟังไร้สายสุดคุ้มค่าที่ทีมงานมายเบสท์ภูมิใจนำเสนอ เพราะคุ้มค่าเกินราคาแบบไร้ข้อกังขาใด ๆ เริ่มจากการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ และระบบของหูฟังที่เป็นแบบ Stereo 3 มิติ ช่วยให้เข้าถึงมิติของเพลงได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.0 ลดเสียงดีเลย์จากแหล่งกำเนิดเสียงได้อย่างหมดจด อีกทั้งยังมี Gaming Mode สำหรับผู้ออกกำลังกายสายเกมมิ่ง มีไมโครโฟนมาให้ถึง 2 ตัว ที่ใช้งานคำสั่งเสียงด้วย Siri และ Google Assistant ได้ เสียงดังฟังชัด แม้ว่าจะออกกำลังกายกลางแจ้งก็ไม่มีปัญหาครับ
ปัญหาสัญญาณขาด ๆ หาย ๆ รวมถึงคุณภาพเสียงที่ถูกบีบอัดจากหูฟังไร้สายจะหมดไปด้วยหูฟังรุ่นนี้ ที่เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์โดยตรงด้วยหัว AUX 3.5 mm ซึ่งช่วยให้คงคุณภาพของแหล่งเสียงต้นทางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับลำโพงเพื่อใช้สำหรับสนทนาระหว่างออกกำลังกาย และมาตรฐานป้องกันน้ำถึงระดับ IPX5 ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียวสำหรับหูฟังแบบมีสาย ส่วนคุณภาพเสียงของหูฟังนั้นก็ไม่ธรรมดา เสียงเบสชัดเจนแต่ไม่กลบย่านอื่น และยังมีให้เลือกหลากหลายสีอีกด้วยครับ
อีกมิติใหม่ของการฟังเพลงโดยใช้หูฟัง ด้วยเทคโนโลยีหูฟังแบบ Bone-Conduction ที่ใช้หูฟังแนบบริเวณกระดูกข้างหู แทนการสวมใส่เข้าไปในหู เพื่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในการนำเสียงผ่านกระดูก จึงเหมาะกับการออกกำลังกาย หรือการวิ่งในพื้นที่ที่เป็นชุมชน หรือมีคนพลุกพล่าน เพราะจะทำให้ได้ยินเสียงรอบข้างได้ด้วยนั่นเอง และไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดง่าย เนื่องจากออกแบบมาให้สวมใส่ได้อย่างแน่นหนา ลักษณะคล้ายกับการสวมแว่นตา พร้อมกับมาตรฐานกันฝุ่นและน้ำ ระดับ IP55 ช่วยให้ออกกำลังกายได้หลากหลายประเภทมากขึ้นครับ
อีกหนึ่งหูฟังออกกำลังกายไร้สายที่มาพร้อมกับดีไซน์ที่ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยนัก เพราะมาพร้อมกับ Ear Hooks ที่ช่วยเกี่ยวใบหูด้านหลังให้แน่นอยู่กับที่ ไม่ขยับไปไหนตลอดการใช้งาน และที่เป็นจุดเด่นของหูฟังรุ่นนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ มาตรฐานป้องกันน้ำถึงระดับ IPX7 ทำให้สามารถสวมใส่ขณะว่ายน้ำได้อย่างสบาย ไร้กังวล นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับการควบคุมโดยระบบสัมผัสที่หูฟัง และพลังเสียงที่ดังฟังชัดด้วยไดรเวอร์ขนาดใหญ่ถึง 13.6 มม. จัดเต็มในทุกย่านอย่างแน่นอนครับ
ดีไซน์สุดโฉบเฉี่ยวเพราะมี Earfins สุดเท่ ที่มีไว้สำหรับเกี่ยวกับใบหูด้านใน เพื่อการสวมใส่ที่แน่นหนา และป้องกันไม่ให้หูฟังหลุดออกในขณะที่สวมใส่ออกกำลังกายนั่นเอง ในส่วนของคุณภาพเสียงนั้น ก็ถือว่าดีเลยทีเดียวครับ เนื่องจากมาพร้อมกับไดรเวอร์ขนาด 6 มม. เก็บรายละเอียดเสียงเบสได้ดี เหมาะสำหรับสายเบสหนัก แถมยังเข้ารหัสสัญญาณได้ถึงระดับ aptX และ เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.0 อีกด้วย เสียงไม่มีดีเลย์แน่นอน นอกจากนี้ยังมีไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน CVC 8.0 ให้คุยได้อย่างสบายใจในทุกเวลาครับ
เพียงแค่ได้เห็นก็ชวนหลงใหลแล้ว เพราะลวดลายที่มีให้เลือกหลากหลาย แถมยังสวมใส่ได้อย่างสบาย เพราะเป็นหูฟังทรง Earbuds จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดใส่หูฟังแบบ In-Ear แต่ก็รองรับคุณภาพเสียงถึงระดับ aptX เลยทีเดียว และในส่วนของไมโครโฟนมีให้มาถึง 4 ตัว สนทนาได้อย่างชัดเจน พร้อมมาตรฐานกันน้ำระดับ IPX5 สวมใส่ออกกำลังกายทั่วไปได้อย่างสบาย นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับแบตเตอรี่สุดอึดที่ใช้งานต่อเนื่องได้ 6 - 8 ชั่วโมง และเคสสามารถชาร์จได้ถึง 4 รอบ รวม ๆ แล้วเกือบ 30 ชั่วโมง ใช้ฟังเพลงยาว ๆ ไปเลยครับ
หูฟังที่ช่วยทำให้คุณเพลิดเพลินในการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น ด้วยคุณภาพของสัญญาณเสียงระดับ aptX HD ที่มักจะหาได้ยากในหูฟังไร้สาย ที่จะทำให้คุณได้ฟังเพลงความละเอียดระดับ Hi-Res ไปพร้อม ๆ กับสุขภาพที่ดี ซึ่งคุณภาพของหูฟังรุ่นนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เพราะยังมาพร้อมกับ Ear Wings เกี่ยวกับใบหูด้านใน เพื่อให้สวมใส่ได้อย่างแน่นหนามากยิ่งขึ้น และแบตเตอรี่ที่ให้มาข้างละ 80mAh ที่ทำให้ใช้งานต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 10 ชั่วโมง โดยไม่ต้องกังวลปัญหาแบตฯหมดระหว่างการออกกำลังกายครับ
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น Sony แล้ว อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเสียงจึงไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ โดยเฉพาะสำหรับรุ่นนี้ ที่นอกจากจะเป็นหูฟังแล้ว ยังเป็นเครื่องเล่น MP3 อีกด้วย และมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลถึง 4GB ภายในตัว ทำให้บรรจุเพลงได้อย่างเหลือ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเลยครับ นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานกันฝุ่นและน้ำถึงระดับ IP68 จะเล่นกีฬาทางน้ำหรือแนว Trail ก็ไม่เป็นอุปสรรค ในขณะเดียวกัน ก็ยังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน Bluetooth เพื่อฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชัน หรือสนทนาโทรศัพท์ได้เช่นเดียวกันครับ
หูฟังรุ่นนี้เป็นหูฟังที่ถือว่าตอบโจทย์กีฬาเกือบทุกรูปแบบ ไปจนถึงกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีม เพราะจัดเต็มด้วยมาตรฐานการกันฝุ่นและกันน้ำ IP57 จะปีนเขาหรือว่ายน้ำลงลึกระดับ 1 เมตร ก็ไม่มีปัญหา ในส่วนของคุณภาพเสียงก็ทำได้ดีเกินคาด ด้วยไดรเวอร์ขนาด 13.5 มม. ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันในการตั้งค่ารูปแบบเสียง เช่น Balance หรือ EQ ผ่านแอปพลิเคชันของหูฟังโดยเฉพาะได้ตามใจต้องการ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้หูฟังต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง เพราะแบตเตอรี่สุดอึดที่ให้มาถึงข้างละ 90mAh นั่นเองครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับวิธีการเลือกหูฟังออกกำลังกาย พร้อมกับหูฟังทั้งหมด 10 รุ่น ที่มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยี่ห้อ ความจริงแล้ว การเลือกหูฟังออกกำลังกายนั้นก็ไม่ได้ยาก เพียงแต่ต้องโฟกัสให้ตรงจุดว่าคุณต้องการลักษณะเด่นตรงไหนเป็นพิเศษ เช่น เรื่องคุณภาพเสียง ความทนทาน แบตเตอรี่ หรือรูปทรงที่สวมใส่ได้อย่างสบายคล่องตัว ซึ่งในบางรุ่น อาจจะตอบโจทย์คุณได้ทุกข้อในตัวเดียวครับ
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่การออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กับเพลย์ลิสต์ที่โดนใจ จะช่วยเพิ่มความเพลิดเพลิน จนลืมความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกาย รวมไปถึงได้สุขภาพจิตที่ดีจากการฟังเพลงโปรดของคุณไปด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังจากออกกำลังกายหรือใช้งานหูฟังเสร็จ ควรตรวจสอบและหมั่นทำความสะอาดหูฟังให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่มีคราบเหงื่อหรือเชื้อโรคสะสมที่อาจจะส่งผลให้หูฟังออกกำลังกายของคุณชำรุดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นครับ